Friday 4 May 2007

บุญชัย ลั่น เกิดวงการนี้จะตายวงการนี้

“เบญจรงคกุล” ลาทีแต่ไม่ลาจาก บุญชัย ลั่น เกิดวงการนี้จะตายวงการนี้ “ผมมีสัญชาตญาณการแข่งขันอยู่แล้ว ใครที่รู้จักผมมานานๆก็ตามดูต่อไป เพราะอย่างไรผมเกิดใน วงการนี้ก็จะตายในวงการนี้ ...” คำกล่าวทิ้งทวนไว้ให้คิดของ บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ซึ่งวันนี้กลายเป็นอดีตบอสใหญ่กลุ่มยูคอม และดีแทคไปแล้ว หลังเทขายหุ้นล็อตใหญ่ทั้งของตัวเอง น้องชาย-วิชัย และน้องสาว-วรรณา เพื่อถอยฉาก ให้ยักษ์พันธมิตร “ เทเลนอร์ ” กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จโดยมีนายฝรั่ง ซิคเว่ เบรคเก้ ฉายเดี่ยวยึดหัวหาด ซีอีโอดีแทคควบเก้าอี้ซีอีโอกิจการแม่ยูคอมในคราเดียวกัน ด้านแหล่งข่าววงในเผยดีลนี้ซุ่มเงียบเจรจามานานเป็นปี... แต่กระนั้นส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นพี่ใหญ่-บุญชัย ที่ให้สัญญา เป็นมั่นเหมาะกับพนักงานยูคอมว่าจะกลับมาซื้อหุ้นคืน.... ขณะที่ซิคเว่ ยอมรับตั้งบริษัทที่ปรึกษาพิจารณาออฟเฟอร์ของตระกูลเบญจรงคกุลในการเสนอซื้อธุรกิจหลัก ยูดี-ยูไอเอช ของกลุ่มยูคอม ดีเดย์ต้นสัปดาห์นี้ประชุมหาข้อสรุป ย้ำชัดถ้าขายคืนคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก... แม้ตลอดห้วง 15 ปีที่ผ่านมาสำหรับกิจการลูก “ดีแทค” นั้นผู้เป็นน้องเล็กของตระกูลเบญจรงคกุลอย่าง วิชัย เบญจรงคกุล ได้เคยเล่าความรู้สึกลึกๆในช่วงฉลองครบรอบ 1 ปีภายใต้แบรนด์ "Happy Dprompt" ของค่ายเบอร์สอง "ดีแทค" ว่า วิกฤติหนักๆคงต้องนับแต่วิกฤติแรกที่พ่อเสียชีวิตกระทันหันในขณะที่เขายังมีอายุไม่มากนัก จึงเหมือน ต้องขาดผู้นำชีวิตและผู้นำครอบครัวรวมถึงผู้นำธุรกิจ แต่ด้วยบุญบารมีที่มีกลุ่มผู้ร่วมงานยืนหยัดจะต่อสู้ร่วมกับพี่ชาย-บุญชัย ทำให้เชื่อมั่นพลังมวลชนจากพนักงานที่รักองค์กร มาถึงวิกฤติครั้งที่สองที่ต้องมาพบกับวิกฤติเศรษฐกิจเป็นผลพวงในปี 1997 ประสบปัญหาเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว โดยแทคกู้เงินดอลล่าร์มาเพียงข้ามคืนก็ต้องกลายเป็น “เศรษฐีหนี้” ไปพริบตา ลืมตาอ้าปากก็มีหนี้เต็มปากทำให้ เห็นคน 2 ประเภท คือ ทิ้งเราไปเลย กับผู้ร่วมงานจำนวนมากบอกว่า สู้เถอะ ถึงจะไม่สามารถฟื้นได้แค่ชั่วพริบตาก็ตาม จากที่เคยเป็น 1 ใน 3 ในตองอู พอมาครั้งนั้นก็ทำให้ชื่อของเราแทบหายไปในหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงกระนั้น ด้วยประสบการณ์ 2 ครั้งจะเห็นพลังจิตใจ น้ำใจของเพื่อน ดีแทค มีมากและไม่เคยถอย “ขนาดเพื่อนดีแทคไม่ทิ้งเราแล้วเราจะทิ้งได้งั้ย … ถึงจะมีหนี้ 8 หมื่นล้านบาทแต่เรามีความเชื่อว่า ทำได้ และ ด้วยจุดนั้นทำให้ครอบครัวเบญจรงคกุลตัดสินใจถูกต้องที่จะสู้แม้เป็นการสู้หลังชนฝาก็จะสู้ด้วยกัน” วิชัย กล่าว ผ่านวันนั้นมาวันนี้เป็นปีที่ 16 ของดีแทคและปีที่ 45 ของกิจการแม่กลุ่มยูคอม ได้กลายเป็นวิกฤติสำคัญของ “ตระกูลเบญจรงคกุล” ที่ต้องจารึกไว้อีกครั้งกับการตัดสินใจสละเรือขายหุ้นใหญ่กลุ่มยูคอมที่มีอยู่ในมือจำนวน 173, 331, 750 หุ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 39.88 ของทุนจดทะเบียนบริษัทให้กับบริษัท ไทยเทลโค โฮลดิ้ง จำกัด ในราคา หุ้นละ 53 บาท ซึ่งผันเป็นมูลค่าเงินได้ราว 9,200 ล้านบาท ประกอบด้วยการขายหุ้นของบุญชัย เบญจรงคกุล จำนวน 53,750,000 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 12.37 ของทุนจดทะเบียน บริษัท) วิชัย เบญจรงคกุล ขายหุ้นจำนวน 64,541,167 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 14.85ของทุนจดทะเบียนบริษัท) และ วรรณา จิรกิติ ขายหุ้นจำนวน 55,040,583 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 12.66 ของทุนจดทะเบียนบริษัท) รวมถึงการแจ้งหนังสือลาออกจากกรรมการบริษัท 3 ท่าน ได้แก่ บุญชัย เบญจรงคกุล, วิชัย เบญจรงคกุล และ ประทีป จิรกิติ พร้อมๆกับการลาออกจากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบุญชัย เบญจรงคกุลอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ซึ่งมีผลนับอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป ผ่าปฏิบัติการ “เทเลนอร์” ซุ้มเจรจาเงียบนานเป็นปี แหล่งข่าววงใน กล่าวกับ “Telecom Journal” ว่า จริงๆมีการซุ่มเจรจาเงียบระหว่างกลุ่มยูคอม และเทเลนอร์ มานานเป็นปีแล้ว จนเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาโดยพี่ใหญ่ บุญชัย เบญจรงคกุล ได้เข้าหารือกับ กุนนาร์ เบอร์เทลเส็น ตัวแทนผู้บริหารเทเลนอร์ ประจำประเทศไทย ภายในโรงแรมคอนราด ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับสำนักงานของเทเลนอร์ ประจำประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในตึกออซีซั่นด้วย เช่นเดียวกับช่วงที่ ซิคเว่ เบรคเก้ ลาพักร้อนยาว 1 เดือน เพื่อเดินทางไปยังประเทศนอร์เวย์... แต่เมื่อเดินทางกลับ เมืองไทยก็ได้นำทีมผู้บริหารฝรั่งของเทเลนอร์กว่า 20 คนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลภายในบริษัทอย่างละเอียด รวมถึงบริษัท โบเลโร จำกัด ที่มีหุ้นใหญ่จำนวน10 , 480 , 000 หุ้นอยู่ในบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด นั้นก็เป็นบริษัทที่กลุ่มเทเลนอร์จดทะเบียนจัดตั้งไว้รอดีลนี้มานานเป็นปีแล้วเช่นกัน ซึ่งถ้ารวมกับสัดส่วนหุ้นใหญ่ อีกจำนวน 19 , 600 , 000 หุ้นของบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี แอลทีดี แล้วจะส่งผลให้กลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้นมากถึง 30,080,000หุ้นเลยทีเดียว บุญชัยให้คำมั่นพนักงาน ขอเวลาคัมแบ็คซื้อหุ้นคืน แหล่งข่าวจากบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม กล่าวให้รายละเอียดถึงก่อนหน้า ที่จะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการว่า พี่ใหญ่-บุญชัย ได้มีการชี้แจงเหตุผลกับผู้บริหารระดับสูง กลุ่มยูคอมในประเด็นของการขายหุ้นครั้งนี้ว่า บริษัทไม่สามารถขยับตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไข ที่คณะกรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ประกาศออกมาเกี่ยวกับการกำกับดูแลการแข่งขัน ทำให้บริษัทไม่มีทาง จะได้รับความเป็นธรรมจากการแข่งขันในตลาดได้ เมื่อการดำเนินการติดขัดทำให้ทางกลุ่มครอบครัวจำต้องขายหุ้นออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการตลาดก่อน หากแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้เสรี ทางครอบครัว “เบญจรงคกุล” จะกลับมาซื้อหุ้นคืนจากเทเลนอร์ “คุณบุญชัยประกาศกับพนักงานจะต้องกลับมาซื้อหุ้นคืน แต่ระยะเวลาเมื่อไรไม่ได้กำหนดเท่าที่พิจารณาตอนนี้ คงต้องรอสถานการณ์ตลาดดีขึ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือของ กทช.” แหล่งข่าว กล่าว ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนหน้านี้ บริษัทมีความพยายามจะเรียกร้องให้มีการยกเลิกสัญญาค่าเชื่อมโยงโครงข่ายหรือแอ็คเซ็ส ชาร์จ ที่ดีแทคต้องจ่ายระบบโพตส์เพดเลขหมายละ 200 บาท และพรีเพด 18% ขณะที่คู่แข่งไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ไม่มีการตอบรับจากรัฐหรือ กทช. โดยล่าสุดการขอเลขหมาย เพื่อให้บริการก็มีปัญหาล่าช้า และไม่เพียงพอ ต่อการบริการ ทำให้บริษัทไม่สามารถทำการตลาดได้ จะอย่างไรแล้วผลดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มยูคอมมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,620 ล้านบาท หรือร้อยละ 26 จาก 6,345 ล้านบาทเป็น 7,965 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ในทุกกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท โดยที่อัตรา กำไรขั้นต้นต่อรายได้ลดลงจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 5 ในทางตรงกันข้ามบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงจาก 196 ล้านบาท เหลือเพียง 186 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทยอยชำระคืนเงินกู้ยืมตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินของบริษัทลดลงจาก 104 ล้านบาท เหลือเพียง 67 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ชำระคืนเงินกู้ยืมเพิ่มเติมอีก 330 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกัน แต่เมื่อรวมกำไรจาก แทคจำนวน 391 ล้านบาทแล้วบริษัทฯ มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 480 ล้านบาท หรือ 1.11 บาทต่อหุ้น ชูธงใหม่ “เบญจจินดา” รุกซื้อคืนธุรกิจยูคอม อย่างไรแล้วในช่วงแถลงข่าวขายหุ้นใหญ่ของตระกูลเบญจรงคกุลนั้น บุญชัย ให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ อยากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปทำงานครอบครัวในด้านที่ถนัดโดยเฉพาะด้านสารสนเทศ รวมถึงสิ่งสำคัญสุดคือการได้เริ่ม ปฏิบัติแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่ 3 มานานเป็นปีที่ 8 แล้ว จึงต้องการใช้เวลาอีกปีครึ่ง เพื่อดำเนินการภาคปฏิบัติ ให้สำเร็จดังความตั้งใจหลัก “ตลอดเวลา 15 ปีในดีแทคสำหรับผมแล้วไม่เคยเสแสร้งแสดงละครมีแต่ชีวิตจริงในการเดินข้างหน้า ไม่ได้ถอดใจ ไม่เคยถอดใจ เพียงแต่มีปณิธานแน่วแน่กับสิ่งที่ช่วยสังคมประเทศชาติได้โดยไม่เล่นการเมือง ไม่มีสายใยการเมือง ซึ่งเป็นมิติใหม่และเป็นความตั้งใจของผม ส่วนใครจะว่าอะไรผมเชิญได้เลย” บุญชัย กล่าวอีกว่า ทางครอบครัวเบญจรงคกุลในนามบริษัท เบญจจินดา ได้ยื่นออฟเฟอร์ขอซื้อธุรกิจบางส่วน ของกลุ่มยูคอมยกเว้นกิจการลูกดีแทค ซึ่งเป็นออฟเฟอร์ที่ยังให้รายละเอียดไม่ได้ แต่ในขั้นตอนทางยูคอมได้ รับทราบแล้ว หลักๆคงไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรแค่เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย สำหรับบริษัท เบญจจินดา นั้นเขา บอกว่า จัดตั้งบริษัทขึ้นมานานแล้วโดยคำว่า เบญจจินดา หมายถึง จินดามณี 5 ชนิดสำหรับคนในครอบครัวเบจรงคกุล ประกอบด้วย คุณแม่, ตัวเขาเอง, น้องชาย-สมชัย, วิชัย และน้องสาว-วรรณา เมื่อถามว่า ตระกูลเบญจรงคกุล จะปิดฉากธุรกิจโทรศัพท์มือถือไปเลยหรือไม่ หัวเรือใหญ่ของตระกูล กล่าวว่า คงไม่เพราะยังมีธุรกิจบางอย่างที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรศัพท์มือถืออยู่ เช่น ธุรกิจคอนเทนส์, ธุรกิจ บรอดแบนด์ และธุรกิจการทำวิดีโอสตรีมมิ่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บุญชัย ยังให้ข้อคิดอีกว่า อะไรผ่านไปวันนี้ก็ปล่อยให้ผ่านไปถึงจะต้องใช้เวลาคิดเหมือนกัน แต่เมื่อทุกวันเปลี่ยนไปแล้วสถานการณ์ย่อมเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องการปฏิรูปตัวเองเพื่อได้คงสภาพไว้ให้มีชีวิตอยู่ได้ “วิชัย” บอกเป็นนัย … ยังวนไปเวียนมาให้เห็น ส่วนทางด้าน วิชัย เบญจรงคกุล ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของดีแทค ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาให้ความเห็นว่า การที่กลุ่มพันธมิตรใหม่เข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคมนั้นเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีอะไร ภายใต้สายตาที่มีคิ้วขมวดอยู่ รวมทั้งส่วนตัวกับซิคเว่และพี่ใหญ่ บุญชัย ก็รักกันดีไม่มีปัญหา “ผมคงกลับไปช่วยธุรกิจครอบครัว สานต่อประโยชน์ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไป และคงอยู่ในแวดวงเวียนไปเวียนมา ให้เห็น เช่นเดียวกับพี่ใหญ่บุญชัยก็จะเป็นหัวเรือใหญ่ให้เราได้ทำงานต่อไป” ดีเดย์ 31 ต.ค.นี้ ลุ้นออฟเฟอร์จากบุญชัย ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคและกลุ่มยูคอม กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มยูคอมว่า คงยังบอกอะไรไม่ได้เพราะต้องรอการตัดสินใจของบอร์ด และคณะกรรมการผู้ถือหุ้นก่อน ว่าจะรับข้อเสนอ ของคุณบุญชัยที่จะขอซื้อธุรกิจธุรกรรมบางอย่างของยูคอมคืนหรือไม่ โดยได้มีการตั้งบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาพิจาณาข้อเสนอดังกล่าวแล้วราวต้นสัปดาห์นี้ (31 ต.ค.) จะมีการประชุม เรื่องดังกล่าว ซึ่งหากผลออกมาว่ามีการตัดสินใจที่จะรับข้อเสนอของคุณบุญชัย ก็คาดว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ในยูคอม ย้ำชัดดีแทคไม่เปลี่ยนแปลง หลังเทเลนอร์เข้ากุมอำนาจ ส่วนประเด็นที่ถามว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในดีแทคหรือไม่ เรื่องนี้ ซิคเว่ ย้ำชัดว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น โดยดีแทคจะยังคงเป็นดีแทคแบบนี้ต่อไป จะไม่มีการเอาพนักงานออก ไม่มีการปรับทีมผู้บริหาร รวมทั้ง จะไม่มีการนำทัพพนักงานต่างชาติเข้ามาทำงานในบริษัท “ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาที่เทเลนอร์เข้ามาเป็นพันธมิตรกับดีแทคและยูคอม เทเลนอร์พอใจกับผลการดำเนินงาน ของทั้งสองบริษัทอย่างมาก และไม่ได้มีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์หรือทิศทางในการทำงานแต่อย่างใด” ในทางตรงกันข้าม ซิคเว่ มองว่า เทเลเนอร์มี long - term commitment กับดีแทค และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไทยค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่จากยุโรปรายอื่นที่เข้ามาลงทุนในเอเชีย ซึ่งต่างได้แพ็คกระเป๋ากลับบ้าน ไปหมด เหลือเทเลนอร์อยู่เจ้าเดียวที่ยังเชื่อมั่นในอนาคตของตลาดในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะในประเทศไทย ยิ่งกว่านั้นคือดีแทคจะได้ประโยชน์จากเทเลนอร์ในการเรียนรู้ประสบการณ์ในการให้บริการ 3 จี ซึ่งดีแทคมีแผนจะ ขอใบอนุญาตหลังจากที่ กทช มีการออกใบอนุญาตแล้ว ที่สำคัญ ซิคเว่ ยังเชื่อมั่นว่า การซื้อหุ้นของเทเลนอร์ในครั้งนี้คงไม่ส่งผลถึงความรู้สึกของลูกค้าชาวไทย เพราะ เทเลนอร์เข้ามาในตลาดเมืองไทยได้ 5 ปีแล้วเช่นเดียวกับพันธมิตรต่างชาติของผู้ให้บริการรายอื่น ที่เข้ามา ในตลาดได้นานพอสมควรแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิงเทลที่เข้ามาในตลาดไทยได้ 7 ปี และฮัทช์ที่อยู่มา 3 ปี อีกทั้งยังเห็นว่า การที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาช่วยเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

No comments: