Friday 4 May 2007

บุญชัย คิดการใหญ่ BIG BROTHER


"บุญชัย เบญจรงคกุล" ชื่อนี้กำลังจะถูกจัดขึ้นสู่ทำเนียบ "เจ้าพ่อชุมชนไทย" เขากำลังเปลี่ยนแปลงสังคมไทยโดยไม่ต้องเล่นการเมือง ปลุกปั้นเยาวชนสำนึกรักบ้านเกิดขึ้นเป็นผู้นำท้องถิ่น กุมความคิดคนชนบท เชื่อมโยงสู่เครือข่ายธุรกิจ "เบญจรงคกุล" ในอนาคต บทพิสูจน์ครั้งสำคัญที่หลายคนมองว่าเขาล้มไม่เป็นท่าในธุรกิจมือถือ แต่เขากำลังจะกลับมาในฐานะธุรกิจที่มั่งคงจาก "เศรษฐกิจพอเพียง" ต่างหาก "ผมไม่ได้ถอดใจจากธุรกิจ" เป็นคำกล่าวที่ดูจะหนักแน่นที่สุด ของ บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้กลายเป็นอดีตเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น จำกัด(มหาชน) หรือยูคอม และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ แทค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการตัดสินใจขายหุ้นที่ตระกูล "เบญจรงคกุล" ถือครองในยูคอม จำนวน 173,331,750 หุ้น หรือ 39.98% ในราคาหุ้นละ 53 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9,186.58 ล้านบาท ให้กับบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ โดย "เทเลนอร์" ทำให้หลายคนอดที่จะคิดไม่ได้ว่า "บุญชัย" ตัดสินใจหันหลังให้กับธุรกิจ เพราะธุรกิจนี้เสมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่ตระกูลเบญจรงคกุล อุตส่าห์บุกเบิกและปลุกปั้น ผ่านช่วงเวลาที่เฟื่องฟูสุดขีด และต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นบางช่วง อย่างนั้นเหตุผลการขายหุ้นครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังจับตากันว่าบุญชัยและครอบครัวคิดจะทำอะไรต่อไปในอนาคต สิ่งนั้นจะต้องเป็นความท้าทายที่มากกว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจหมื่นล้านแห่งนี้ ที่วันหนึ่งในอดีตทำให้ครอบครัวนี้ได้ชื่อติดอันดับต้นๆ ของตระกูลเศรษฐีเมืองไทย บุญชัย พูดเชิงตัดพ้อนักวิชาการและนักวิเคราะห์บางคน ว่า "ตอนนี้ผมไม่ต้องการเครดิตจากใคร" "ผมเกิดในธุรกิจนี้ และผมจะขอตายในธุรกิจนี้" เป็นคำพูดที่ท้าทายให้กับหลายคนที่ปรามาศเขา ให้จับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบุญชัยยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คือแนวทางของโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และจะสำเร็จสมบูรณ์แบบในอีกหนึ่งปีครึ่งข้างหน้านี้ โมเดลธุรกิจใหม่ของครอบครัวเบญจรงคกุล ที่มีพี่ใหญ่อย่างบุญชัย เป็นหัวขบวนนำทัพ กำลังจะเปลี่ยนแปลงสัมคมและชุมชนทั่วไทยผ่านโครงการสำนึกรักบ้านเกิดที่บุญชัยลงไปคลุกคลี่เองตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนอาจกล่าวได้ว่าชีวิตของเขาไปผูกพันกับชนบทไทยไปแล้ว "ผมกำลังอยู่ในการยึดแนวคิดทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ที่ชุมชนร่วมกับบริษัทใหญ่ร่วมกันพัฒนาชุมชนตามปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง" บริษัทเบญจจินดา โฮลดิ้งส์ คือบริษัทของครอบครัวเบญจรงคกุล ที่จะเข้ามาผลักดันการทำธุรกิจในแนวทางตามโมเดลใหม่ที่บุญชัยได้วางไว้ โดยเบญจจินดาได้ซื้อธุรกิจและสินทรัพย์ทางด้านไอทีและการสื่อสารทั้งหมดที่ไม่ติดเงื่อนสัญญากับราชการจากยูคอมทั้งหมด นั่นหมายถึงอนาคตที่ทุกคนจะได้เห็นการผลักดันธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทุกชุมชน ผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ของครอบครัวเบญจรงคกุล "ผมสามารถประเทศชาติได้ โดยผมไม่จำเป็นต้องเล่นการเมือง" เป็นสิ่งที่บุญชัยตอกย้ำแนวทางการทำธุรกิจของเขาที่ไม่ต้องมีการเมืองมาสนับสนุนธุรกิจ เป็นนักธุรกิจที่เติบโตจากการทำธุรกิจจริงๆ และเป็นการเดินตามแนวทางที่บริษัทใหญ่ช่วยองค์กรเล็กให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง ซึ่งนั่นจะมีผลย้อนกลับมาสู่ธุรกิจของครอบครัวเบญจรงคกุลโดยตรงในอนาคตอันใกล้ เงินก้อนโตที่ได้จากขายหุ้นเฉียดหนึ่งหมื่นล้านในครั้งนี้ นอกจากซื้อกิจการทั้งหมดของยูคอมนอกเหนือจากธุรกิจมือถือ เงินที่ได้ยังเตรียมนำเข้ามาดำเนินธุรกิจในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด รวมถึงธุรกิจทางด้านวิทยุชุมชนและสหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกัน โดยเขาต้องการให้ทุกจังหวัดในประเทศมีวิทยุชุมชน และสหกรณ์เป็นของตนเอง "ผมกำลังจะมีเครือข่ายชุมชนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ผมจะไปซื้อธุรกิจที่ถนัด จะทำวิทยุร่วมด้วยช่วยกันทั่วประเทศ จะทำวิทยุชุมชนทุกจังหวัด จะจัดตั้งสหกรณ์ทุกจังหวัด และทำเว็บไซต์รักบ้านเกิดดอทคอมให้เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน" เป็นภาพของธุรกิจที่บุญชัยตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อนำทุกสิ่งทุกอย่างที่บุญชัยไปประกาศไว้ในวันที่เขาและครอบครัวตัดสินขายหุ้นในยูคอมทั้งหมดออกไป จึงไม่ใช่การถอดตัวและหันหลังให้กับธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมอย่างแน่นอน แต่เป็นการกลับมาตั้งหลักปักฐานเพื่อที่จะกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ในธุรกิจที่เป็นธุรกิจที่น่าจะเติบโตอีกมหาศาลมากกว่า จากกลุ่มคนที่เป็นคนไทยทั่วทั้งประเทศ ฐานที่มั่นที่บุญชัย ได้สร้างไว้กับโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ณ วันนี้ มีเยาวชนที่ผ่านโครงการนี้เกือบหนึ่งพันคน นำความสู่และความคิดที่ได้รับการปลูกฝังจากโครงการนี้กลับไปพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยของตน ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้นำในแต่ละชุมชน เป็นผู้นำทางความคิด และนำเสนอแนวทางการดำรงชีวิตยุคใหม่ที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละชุมชนทั่วไทย บุญชัย เปรียบเสมือน "พี่ใหญ่" ของเยาวชนในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด นอกจากจะให้เงินทุนสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชนในโครงการนี้ ยังได้ทอดถ่ายประสบการณ์และแนวคิดตามทฤษฎีที่บุญชัยยึดไว้เป็นแนวทางการทำธุรกิจ ทำให้ฐานของเยาวชนภายใต้โครงการ ย่อมกลายเป็นฐานที่มั่นที่ธุรกิจภายใต้โมเดลใหม่ของครอบครัวเบญจรงคกุลสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ยิ่งชุมชนมีการเติบโตมากเท่าไร การเข้าถึงข้อมูลจากสิ่งที่บุญชัย ปลูกพื้นฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็นการทำวิทยุร่วมช่วยกันครอบคลุมทุกจังหวัด การมีวิทยุชุมชนทุกตำบล และการมีสหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกันทุกพื้นที่ เมื่อมาผนวกกับธุรกิจที่บุญชัยซื้อมาจากยูคอม อย่าง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ย่อมเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนกลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกต่อไปได้ "ต่อไปการธุรกิจที่มีดาต้าเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่จะสามารถทำธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลได้" เป็นคำกล่าวของ บุญชัย ที่ตอกย้ำถึงความพยายามที่กำลังนำพาธุรกิจภายในโมเดลใหม่ไปสู่ความสำเร็จ ตัวอย่างที่บุญชัย ยกให้เห็นถึงตัวอย่างของเงินนำจำนวนมากที่จะหลั่งไหลเข้ามายังธุรกิจคอนเทนต์ หากวันหนึ่งผมขายคอนเทนต์ให้กับคนทั้งประเทศใช้ได้เพียงคนละคอนเทนต์ต่อเดือน คิดค่าใช้จ่ายครั้งละ 3 บาท คูณด้วย 60 ล้านคน เดือนหนึ่งจะมีรายได้ 180 ล้านบาท หนึ่งปีก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งขึ้น เพราะยังมีคนอีกกว่า 70% ของประเทศไทยที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และต้องการคอนเทนต์เพื่อมารองรับกับความต้องการใช้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่มือถือยุค 3G ผู้คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือจะยิ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คอนเทนต์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น ลูกค้าขยายใหญ่เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่บุญชัยมองไว้ในอนาคต และมีความเป็นได้ที่อนาคตครอบครัวเบญจรงคกุลจะกลับมาขอไลเซ่นต์ผู้ประกอบการมือถือยุค 3G ก็เป็นได้ ดังนั้นการที่จะบอกว่าบุญชัยและครอบครัวถอดตัวและหันหลังให้กับธุรกิจมือถือและวงการสื่อสารคงจะผิดถนัด แต่เป็นการหลบไปสั่งสมกำลังมากกว่า เพื่อกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม เพราะการตัดสินใจการขายหุ้นยูคอม และยุติบทบาทในดีแทคในช่วงนี้ อาจจะเป็นผลดีต่อครอบครัวเบญจรงคกุลที่สุด เนื่องจากได้เงินจำนวนมากมาเป็นทุนในการต่อยอดธุรกิจ แม้ว่านักวิเคราะห์หลายรายจะมองว่าเป็นราคาที่ถูกเกินไป แต่หากบุญชัยและครอบครัวยังต่อสู้ต่อไปในการทำธุรกิจมือถือ เขาอาจจะต้องสูญเสียเงินทุนจำนวนมากที่ใช้ไปกับการแข่งขันอย่างรุนแรงกับคู่แข่งรายสำคัญ ทั้งเอไอเอส ออเร้นจ์ หรือแม้แต่ฮัทช์เองก็ตาม ที่สำคัญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ธุรกิจมือถือไทยจะต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่กับเครือข่าย 3G เมื่อถึงเวลานั้นบุญชัยต้องหาเงินจำนวนมหาศาลมาลงทุนร่วมกับเทเลนอร์ ซึ่งอาจทำให้ครอบครัวเบญจรงคกุลลำบาก และนำไปสู่แนวทางเพิ่มทุน ซึ่งเทเลนอร์ย่อมไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนและเงินเพิ่มทุน นั่นเท่ากับว่าครอบครัวเบญจรงคกุลจะมีสัดส่วนถือครองหุ้นลดลงตามสัดส่วนไปโดยปริยาย การขายตอนนี้จึงนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็ได้ นอกจากนี้สิ่งที่บุญชัย เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจมือถือของดีแทคมาโดยตลอด ก็คือสัญญาสัมปทานที่ผูกมัดกับการสื่อสารแห่งประเทศ ทำให้ดีแทคเสียเปรียบคู่แข่งขันมาตลอด 16 ปี ซึ่งเขาเคยบอกกับสื่อมวลชน ไว้ว่าเขาอยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมากว่า 20 ปี จนดีแทคมีอายุ 16 ปี แต่ทุกวันล้วนพบกับอุปสรรค เหตุที่ราชการเลือกปฏิบัติทำให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันของการแข่งขัน มาวันนี้จึงรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง เบื่อหน่วย จากการบริการงานในกิจการสื่อสารโทรคมนาคม จนอยากจะถอนตัวจากวงการนี้ "ที่ผ่านมาคู่แข่งขันของผมมีสองคนคือทักษิณ ชินวัตรและตระกูลเจียรวนนท์ และวันนี้ผมต้องแข่งกับพานทองแท้ ชินวัตรและศุภชัย เจียรวนนท์" บุญชัยกล่าวและว่า "ผมต้องแข่งขันกับธุรกิจที่มีการเมืองอยู่ข้างหลัง และแข่งขันกับธุรกิจที่เงินทุนและเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่คลุมทั้งประเทศ เป็นเรื่องยากมากที่ผมจะชนะได้" ฐานที่มั่นที่บุญชัยถอยมา หลังจากออกจากธุรกิจ จึงเป็นฐานที่น่าจะทำให้บุญชัยสามารถต่อกรกับคู่แข่งขันทุกรายได้ในอนาคต เพราะวันหนึ่งเมื่อโครงการสำนึกรักบ้านเกิดที่มีเยาวชนจำนวนมากขึ้นทุกปี กลับไปเป็นผู้นำชุมชนเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้นำที่กุมการเมืองท้องถิ่น มีฐานชุมชนจากคนในสังคมที่บุญชัยเข้ามาวางไว้ตามทฤษฎีบริษัทใหญ่ช่วยองค์กรขนาดเล็ก ทำให้ชุมชนเกษตรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้มแข้ง ส่งผลให้สิ่งที่บุญชัยวางไว้ตามโมเดลธุรกิจใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม และเป็นสิ่งที่ใครจะปรามาศไม่ได้ถึงสิ่งที่เขาทำ หากยังจำกันได้เมื่อครั้งที่วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน มีข่าวว่าจะถูกถอนออกจากหน้าปัดวิทยุ กระแสของสังคมและสมาชิกจากคลื่นวิทยุแห่งนี้ ได้กลายเป็นกำแพงที่แข็งแกร่ง จนทำให้คลื่นวิทยุนี้อยู่คู่กับคนฟังได้ต่อไป นี่คือบทพิสูจน์การทำงานของบุญชัย เบญจรงคกุล ที่กำลังจะกลายเป็น BIG BROTHER THAILAND หรือพี่ใหญ่ของชุมชนไทยตัวจริงในอนาคต ************** ตัวตนของ "บุญชัย เบญจรงคกุล" ถึงเวลานี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของผู้ชายชื่อ "บุญชัย เบญจรงคกุล" ผู้ที่ทำให้วงการโทรศัพท์มือถือต้องช็อกไปตามๆ กัน จากการขายหุ้นที่ตระกูลเบญจรงคกุลถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น จำกัด(มหาชน) หรือยูคอม ให้กับบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ โดย "เทเลนอร์" บุญชัย เป็นบุตรคนแรกจากทั้งหมด 4 คน ของสุจินต์และกาญจนา เบญจรงคกุล เขาเกิดในย่านคนจีน ซอยตรอกโรงเลี้ยงเด็ก ในช่วงที่ครอบครัวกำลังก่อร่างสร้างตัวจากการค้าขาย ก่อนที่จะขยายธุรกิจออกไปมากมาย ทำให้บุญชัยได้รู้ประสบการณ์ธุรกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากทั้งพ่อและแม่ในขณะนั้น ได้เรียนรู้กลไกการทำตลาดในหลายสไตล์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในช่วงเวลาต่อมา หลังจากเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ จากบอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ บุญชัยกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว แต่น่าเสียดายที่พ่อของบุญชัยจากไปในเวลาอันรวดเร็ว การเรียนรู้ธุรกิจจึงน้อยมาก ที่สำคัญเขายังต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สิน 300 ล้านบาทที่พ่อทิ้งไว้ด้วยวัยเพียง 27 ปี บุญชัยใช้เวลากว่า 7 ปีในการไขปัญหาหนี้สินทั้งหมด ก่อนที่เขาจะนำพาธุรกิจพ้นวิกฤต และนำยูคอมก้าวไปสู่ยุคของการเติบโตมากที่สุด โดยบุญชัยได้มีการเข้าปรับปรุงสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากการที่เป็นตัวแทนให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์โมโตโรล่าเพียงอย่างเดียว จากลูกค้าที่เคยค้าขายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไร้สายให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้ขยายไปสู่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ ด้วยการนำอุปกรณ์โทรคมนาคมแบบมีสายเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ที่สำคัญช่วงแห่งการขยายกิจการในครั้งนั้น บุญชัยได้ตัดสินจ้างมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารกิจการที่ใหญ่โตขึ้น และกลายเป็นฐานที่ทำให้ยูคอมสามารถสร้างธุรกิจไปสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมา ยูคอมได้จัดตั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือแทค ขึ้นมารับผิดชอบการให้บริการโทรศัพท์มือถือ การโตของธุรกิจภายใต้การทำงานของบุญชัย มีความมั่งคงและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเขาสามารถทำให้ตระกูล "เบญจรงคกุล" ติดอันดับต้นๆ มหาเศรษฐีของเมืองไทย ถึงขนาดซื้อเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มาไว้ใช้ส่วนตัว เพื่อบินไปที่ต่างๆ ที่ต้องการได้ทันที แต่แล้วเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยคนนี้ ต้องประสบกับปัญหาใหญ่หลวงจากการประกาศลอยค่าเงินบาท ทำให้หนี้สินระยะสั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณกว่า 7 หมื่นล้านบาท เขาต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการหาพาร์เนอร์ต่างชาติ และเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอประนอมหนี้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาภายในบริษัทจากมืออาชีพที่เข้าจ้างมา นำไปสู่การเข้ามาดูแลกิจการแบบเต็มตัวอีกครั้ง การกลับมาของเขาในครั้งนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดรุนแรง จากคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นจากเอไอเอส และออเร้นจ์ในขณะนั้น การร่วมมือกับเทเลนอร์ พาร์ตเนอร์ต่างชาติ ได้สร้างปรากฎการณ์ต่างๆ ให้กับวงการนี้อย่างมากมาย ไล่ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ "ดีแทค" เพื่อลบจุดอ่อนของการมีแบรนด์จำนวนมาก การปลดล็อคอิมี่ การปรับสูตรการคิดอัตราค่าบริการใหม่สร้างอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ไม่คิดค่าบริการรายเดือน การคิดค่าแอร์ไทม์เป็นวินาที เมื่อสถานการณ์ของดีแทคผ่านพ้นช่วงวิกฤตและกำลังเดินไปตามสีสันการตลาดรูปแบบใหม่ บุญชัยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการผลักดันโครงการ "สำนึกรักบ้านเกิด" ที่เป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายชุมชน สร้างคน สร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างเครือข่ายการค้าออนไลน์ ทั้งหมดเกิดจากแรงผลักดันจากการแข่งขัน ทำให้บุญชัยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายชุมชน บุญชัยต้องการสร้างผู้นำขึ้นในชุมชน สร้างแหล่งทำกิน สร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความแข็งแกร่งให้กับชุมชนทั่วประเทศ โดยอยู่บนพื้นฐาน ทุนใหญ่ช่วยทุนเล็ก และเมื่อทุนเล็กแข็งแกร่งจะกลับมาช่วยทุนใหญ่ บุญชัย เคยให้สัมภาษณ์ในผู้จัดการรายเดือน ว่าโครงการสำนึกรักบ้านเกิดการเกษตรและสำนึกรักบ้านเกิดสหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกัน จะเกิดขึ้นทุกตำบลทั่วประเทศ เป็นเรื่องการผลิตสินค้าชุมชน การสร้างช่องทางในการขายสินค้าที่จะมีทั้งร้านค้าจริง คือสหกรณ์ ที่จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์ข้อมูลทั่วประเทศ ในการใช้ประโยชน์แลกเปลี่ยนสินค้าและเป็นช่องทางในการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ จะถูกเชื่อมด้วยเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของยูไอเอชที่วางไปแล้วทั่วประเทศ เขากล่าวว่า เครือข่าย information superhigh way จะถูกปลุกความต้องการโดยคน 7,000 ตำบล" ในความหมายของบุญชัย ก็คือเมื่อทุกคนเริ่มมีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ จะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานภาคราชการ กรมสรรพากร ธนาคาร ปรับปรุงตัวเองเข้าสู่ระบบออนไลน์ เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่บุญชัยสร้างไว้ก็จะมีผู้คนใช้เต็มไปหมด จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวันนี้เขาจึงมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะพัฒนาชุมชนให้ก้าวขึ้นมายืนได้ด้วยตนเอง และโดยบุคคลิกของบุญชัย เองที่ผ่านมาเติบโตจากครอบครัวที่มาจากศูนย์อยู่แล้ว การที่เขาจะลงไปคลุกคลี่กับผู้คนในชนบท และพัฒนาพวกเขาเหล่านั้น ตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมบ่งบอกถึงตัวตนของผู้ชายที่ชื่อ "บุญชัย เบญจรงคกุล" ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาบอกว่า "ชีวิตนี้เขาไม่ต้องเล่นละคร มีแต่ชีวิตจริงที่ต้องเดินหน้าต่อไป" *************** เปิดปูม "เทเลนอร์" ชื่อของบริษัท เทเลนอร์ เอเอสในเวทียุโรปไม่ได้ด้อยไปกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมรายอื่นในยุโรปเท่าไรนัก เทเลนอร์เป็นกิจการโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งได้มีการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมไปทั่วยุโรป และเอเชีย โดยให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านบริษัทในเครือมากกว่า 12 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทเลนอร์มีบริษัทที่ร่วมลงทุนอยู่ในสี่ประเทศหลัก ได้แก่ บังคลาเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์และประเทศไทย ธุรกิจโทรคมนาคมของเทเลนอร์มีตั้งแต่ธุรกิจบรอดแบนด์ บริการระบบแปลงสัญญาณไอพีระหว่างประเทศ (Internet protocal) โครงสร้างพื้นฐาน ที่ใช้มีทั้งไฟเบอร์ออพติกเคเบิลใต้ทะเลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และการเชื่อมสัญญาณดาวเทียม ผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ปี 2548 ของเทเลนอร์สามารถยอดขายได้ 16.54 พันล้านโครน (ประมาณ 103,916 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.6% จาก 15.23 พันล้านโครน (ประมาณ 95,686 ล้านบาท) ของไตรมาส 2 ปี 2547 และหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2.04 พันล้านโครน (ประมาณ 12,816 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 19.4% จาก 1.71 พันล้านโครน (ประมาณ 10,743 ล้านบาท) ของไตรมาส 2 ปี 2547 ปัจจุบัน เทเลนอร์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ 20 กลุ่มรวม 74.99% โดยรัฐบาลนอร์เวย์ถือครองกิจการราว 53.97% และมีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ทั้งหมด 24.8 ล้านราย กิจการโทรคมนาคมของเทเลนอร์มีจุดเริ่มต้นมาจากปี 1855 ที่ประเทศนอร์เวย์เริ่มมีการติดตั้งสายโทรเลขโดยสำนักงานโทรเลขนอร์เวย์ จากนั้น จึงมีการติดตั้งโทรศัพท์ในปี 1880 ติดตามด้วยระบบสลับสัญญาณโทรศัพท์อัตโนมัติในปี 1918 และบริการเทเล็กซ์ในปี 1946 อีกทั้งเครือข่ายแปลงสัญญาณสำหรับโทรทัศน์ ที่เริ่มต้นปี 1960 บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มขึ้นในปี 1966 ระบบแปลงสัญญาณควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เปิดตัวครั้งแรกในนอร์เวย์ช่วงกลางทศวรรษ 1970 และอีกหกปีต่อมาก็เริ่มมีระบบดาวเทียมแห่งชาติที่เรียกว่า NORSAT ที่เชื่อมโยงฐานสำรวจน้ำมันในทะเลเหนือกับแผ่นดินใหญ่ เทเลนอร์ยังเป็นผู้ริเริ่มสถานีชายฝั่งระบบอัตโนมัติเต็มรูป เพื่อส่งสัญญาณเดินเรือเชื่อมกับระบบดาวเทียมอินมาร์แซตในปี 1982 และ 1 ปีต่อมาก็ปรับระบบแปลงสัญญาณโทรศัพท์เป็นแบบอัตโนมัติได้ทั้งหมด ช่วงกลางทศวรรษ 1980 กิจการในตอนนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อนอร์วีเจียน เทเลคอม (Televerket) ปี 1984 เริ่มเปิดตัวระบบโทรศัพท์ไร้สายแบบปรับปรุงใหม่และระบบเพจเจอร์แบบตัวเลข ปี 1986 ระบบสลับสัญญาณโทรศัพท์แบบดิจิตอลเริ่มนำมาใช้ และได้มีการปรับโครงสร้างเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ดำเนินการโทรศัพท์ในประเทศ แผนกการขายและหน่วยงานออกกฎควบคุมและอนุมัติการใช้โทรศัพท์ ส่วนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถูกกันไว้เป็นแผนกธุรกิจต่างหากในชื่อ "เทเลโมบิล" ในปี 1990 และตั้งเป็นบริษัทจำกัดในปีต่อมา โดยมีคู่แข่งคือ "เน็ตคอม" อีกสองปีต่อมาจึงเปิดตัวระบบแปลงสัญญาณข้อมูล เพื่อแข่งกับคู่แข่ง และนำสายโทรศัพท์แบบเช่าซื้อ ที่มีส่วนเกินอยู่ออกจำหน่ายใหม่ ปี 1993 เทเลเวอร์เกตปรับโครงสร้างกิจการภายใต้ชื่อ "นอร์วีเจียน เทเลคอม กรุ๊ป" และเข้าร่วมกับกลุ่มบริษัทสัญชาตินอร์ดิก และฮังกาเรียนได้สัมปทานเป็น ผู้ดำเนินการโทรศัพท์ไร้สายในฮังการี อีกหนึ่งปีต่อมากิจการก็มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนชื่อเป็น "เทเลนอร์" ในปี 1995 ปีเดียวกันนั้นเอง เทเลนอร์ร่วมมือกับบริติช เทเลคอมและเทเลเดนมาร์กตั้งกิจการ "เทเลนอร์เดีย" (Telenordia) โดยเทเลนอร์ และบริติช เทเลคอมถือหุ้นสัดส่วน 50-50 บริษัทยังขยายกิจการโดยมีการดำเนินการเพิ่มเติมรวมทั้งเข้าถือหุ้นในกิจการโทรศัพท์ไร้สายในไอร์แลนด์ ที่ชื่อ ESAT Digifone และมีกิจการเครือข่ายเพจจิ้งในจีนด้วย เทเลนอร์มีหุ้น 10% ใน VIAG Interkom โดยร่วมทุนกับบริติช เทเลคอม และ VIAG แห่งเยอรมนี ในปี 1997 เพื่อดำเนินการโทรศัพท์ทั้งแบบไร้สาย และแบบติดตั้งคู่สายในเยอรมนี (กิจการดังกล่าวมีชื่อว่า "E.ON" ต่อมาบริติช เทเลคอมซื้อหุ้นกิจการเพิ่มโดยถือครองเป็นสัดส่วน 90%) ปีเดียวกันนั้น เอง เครือข่าย นอร์วีเจียนเทเลคอมก็ดำเนินการระบบดิจิตอลได้สำเร็จ และเริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยใช้ชื่อว่า "เทเลนอร์ เน็กซ์เทล" ซึ่งปี 2000 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เน็กซ์ตรา- Nextra)เทเลนอร์ขยายกิจการด้านอินเทอร์เน็ตในยุโรปเมื่อตลาดโทรคมนาคมของนอร์เวย์ผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องการควบคุมในปี 1998 และเป็นการเพิ่มคู่แข่งหน้าใหม่ไปด้วย 1 ปีต่อมาเทเลนอร์มีแผนผนวกกิจการกับ "ทีเลีย" กิจการโทรคมนาคมแห่งสวีเดน และปี 2000 ก็ได้เปลี่ยนชื่อแผนกบริการ และการติดตั้งเป็น "บราวิดา" (Bravida) แล้วแยกเป็นบริษัทต่างหาก เทเลนอร์ซื้อหุ้น 54% ในโซโนโฟน (Sonofon) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโทรศัพท์ระดับนำของเดนมาร์ก โดยหุ้นส่วน ที่เหลือเป็นของเบลเซาธ์แห่งสหรัฐฯ ปี 2000 เช่นกันรัฐบาลนอร์เวย์นำหุ้น 20% ในกิจการเทเลนอร์ออกขายแก่สาธารณชน ************** "เบญจรงคกุล" ถอยเพื่อรุก ปิดฉากตำนานยุคแรกของตระกูลเบญจรงคกุลในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ด้วยการถอดหุ้นและสายบริหารออกทั้งหมด แต่ทว่าบทบาทใหม่ของตระกูลกลับเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหลังจากนี้ไป ซึ่งถูกมองว่า เป็นบทบาทที่ "พี่ใหญ่" บุญชัย เบญจรงคกุลตั้งปฎิภาณที่ลงแรงไปแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน เทเลนอร์ได้ถูกเชื้อเชิญจากตระกูลเบญจรงคกุลเพื่อเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ภายหลังที่ยูคอมต้องสมรสุมทางด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2541 ธุรกิจที่เทเลนอร์เข้ามามีบทบาทอย่างมาก็คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่การปลดผู้บริหารระดับสูง "ภูษณ ปรีย์มาโนช " โดยบุญชัย เบญจรงคกุลโดยเข้าบริหารแทน หลังจากนั้นก็มาถึงการตั้งกรรมการผู้จัดการร่วมหรือโคซีอีโอระหว่างวิชัย เบญจรงคกุลกับซิกเว่ เบรกเก้ด้วยการรีแบรนด์ดิ้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "แทค" ในเวลานั้นมาเป็น "ดีแทค" แทน หลังจากนั้นกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของยูคอมก็ดีวันดีคืนขึ้น ซึ่งเทเลนอร์มีแนวคิดลึกๆ ในการที่จะเข้ามามีบทบาทกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้มีการกว้านซื้อหุ้นเพิ่มทุนของดีแทคที่มีอายุ 2 ปีเอาไว้ในมือเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะเทเลนอร์รู้ถึงศักยภาพของตระกูลเบญจรงคกุลดีเมื่อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวถึงกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน จึงเป็นที่มาของการประกาศขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ของยูคอมกรุ๊ปโดยตระกูลเบญจรงคกุล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท จากถ้อยแถลงของบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อ 20 ตุลาคม 2548 ถึงการขายหุ้นของตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ก่อตั้งยูคอมขึ้นมาตั้งแต่ปี ---- โดยที่ทางตระกูลเบญจรงคกุลได้ตกลงขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกํด (มหาชน) หรือยูคอมที่ถือโดยบุญชัย เบญจรงคกุล จำนวน 53,750,000 หุ้นคิดเป็น 12.37% วิชัย เบญจรงคกุลจำนวน 64,541,167 หุ้น คิดเป็น 14.85% และวรรณา จิรกิติ จำนวน 55,040,583 หุ้นคิดเป็น12.66% รวมเป็นจำนวน 173,331,750 หุ้นหรือ 39.98% ของทุนจดทะเบียนในราคาหุ้นละ 53 บาท เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,186.58 ล้านบาทให้กับบริษัทไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัดหรือทีทีเอช "ผมได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ในยูคอมต่อศรีภูมิ ศุขเนตร ประธานกรรมการบริหารเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการขายหุ้นในส่วนของตระกูลเบญจรงคกุลให้กับบริษัท ไทยเทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัดทั้งหมด เหลือแต่เพียงตำแหน่งแต่ดำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท .โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เท่านั้น" บุญชัย เบญจรงคกุลเริ่มต้นการแถลงบทสุดท้ายของตระกูลเบญจรงคกุลในยูคอมที่มีมานานนับแต่ตั้งบริษัทเป็นต้นมา สำหรับบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัดที่เข้ามาถือหุ้นยูคอมแทนตระกูลเบญจรงคกุลมีทุนจดทะเบียน 40 ล้านหุ้น (400 ล้านบาท) เป็นบริษัทที่จัดขึ้นตั้งใหม่ โดยมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี แอลทีดี จำกัด บริษัทสาขาของบริษัท เทเลนอร์ เอเอส ประเทศนอร์เวย์ถือหุ้น 19,600,000 หุ้น คิดเป็น 49% บริษัท โบเลโร จำกัด ถือหุ้น 10,480,000 หุ้น บุญชัย เบญจรงคกุลถือหุ้น 3,960,000 หุ้น บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 3,959,993 หุ้น บริษัท แซนดาลวูด โฮลดิ้งส์ จำกัดถือหุ้น 800,000 หุ้น บริษัท เพทรูส จำกัดถือหุ้น 600,000 หุ้น บริษัท อมาโรนี่ จำกัดถือหุ้น 600,000 หุ้นและอื่น ๆ 7 หุ้น มีกรรมการบริษัทและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามประกอบด้วยศรีภูมิ ศุขเนตร, คนุท บอร์เก็น, กุนนาร์ เบอร์เทลเส็นม, คริสเตียน สตอร์มและสมยศ สุธีรพรชัย ส่งผลให้กลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้นโดยตรงในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 30% ในบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกํด (มหาชน) 24% ถึงแม้ตระกูลเบญจรงคกุลจะไม่มีบทบาททั้งในแง่ผู้ถือหุ้นและบทบาทในสายบริหารแล้ว แต่สายสัมพันธ์ระหว่างตระกูลเบญจรงคกุลกับเทเลนอร์ก็ยังไม่ขาดหายเลยที่เดียว "เทเลนอร์ยังมีความมั่นใจในตลาดไทยว่า ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เราต้องการโฟกัสธุรกิจมือถือและรู้ว่าต้องทำงานโดยเป็นหุ้นส่วนกับคนไทย และอยากย้ำว่า เราไม่ได้แยกทางแต่ปรับกลุยท์ในการเป็นพันธมิตรกันใหม่ ซิกเว่ เบรกเก้ กรรมการผู้จัดการร่วม ของดีแทคกล่าวถึงความสัมพันธ์กับเทเลเนอร์กับตระกูลเบญจรงคกุลที่จะยัง คงมีเยื่อใยต่อกัน เมื่อมองลงในกลุ่มทุนที่เข้ามาถือหุ้นแทนแล้วจะพบว่า ตระกูลเบญจรงคกุลไม่ได้หนีหายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทในสนามโทรคมนาคมโดยตรงมาเป็นการถือหุ้นโดยอ้อมแทน ซึ่งส่งสัญญาณว่า ตระกูลเบญจรงคกุลไม่ได้ถอดใจหรือทอดทิ้งธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งเป็นหม้อข้าวสำหรับของตระกูล "คุณดูบุญชัยผิดไปแล้ว ดูผมสั้นไปหน่อย ผมไม่เคยถอดใจ ผมมีปธิธานแน่วแน่ แต่ไม่เคยออกมาพูดกับใคร ผมเชื่อว่าเราสามารถทำให้โทรคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาคนอีก 70% ของประเทศไทย ผมคิดว่า สิ่งที่เราทำสามารถช่วยสังคมและประเทศชาติได้โดยไม่เล่นการเมือง เป็นมิติใหม่มากกว่า เป็นมิติใหม่มากกว่า เป็นมิติใหม่ของคนที่เป็นนักธุรกิจและไม่ต้องเล่นการเมือง ไม่ต้องมีสายใยการเมือง" บุญชัยกล่าวอย่างมีอามรณ์เมื่อถูกถามจากสื่อมวลชนว่า ถอดใจจากธุรกิจโทรคมนาคมแล้วหรือตระกูลเบญจรงคกุลยังได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท เบญจจินดา จำกัดโดยมีทุนจดทะเบียน 28 ล้านบาทเพื่อดำเนินการซื้อธุรกิจและสินทรัพย์ทางด้านไอทีทั้งหมดของยูคอมมาบริหารเอง โดยเลือกบริษัทที่ไม่ติดสัญญาหรือเงื่อนไข "ขณะนี้ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวกับประธานกรรมการของบริษัทแล้ว" บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัดได้ยื่นคำเสนอซื้อทรัพย์สินที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนที่เป็นกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่า หรือ ที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของบริษัท ในราคา 1,112,000,000 บาท คำนวณตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และบริษัท ไพรเวท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้สนอซื้อทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย สิทธิ กรรมสิทธิ์ และผลประโยชน์ใน ที่ดิน อาคาร สัญญาเช่า อสังหาริมทรัพย์ สินค้าคงเหลือ เครื่องใช้และอุปกรณ์ และสิทธิตามสัญญาที่ได้มีการตกลงกันในราคา 413,000,000 บาท คำนวณตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ของบริษัทยูคอม เมื่อมองถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทจะพบว่า บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัดมีทุนจดทะเบียน 28 ล้านบาท มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามประกอบด้วยบุญชัย เบญจรงคกุล วิชัย เบญจรงคกุลและวรรณา จิรกิติ ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบุญชัย เบญจรงคกุลถือหุ้น 97,999 หุ้น วรรณา จิรกิติถือหุ้น 97,999 หุ้น วิชัย เบญจรงคกุลถือหุ้น 69,999 หุ้น ศุภรัตน์ เบญจรงคกุลถือหุ้น 14,000 หุ้นและวรรณา เบญรงคกุล, ประกอบ จิรกิติและจุฑามาศ เบญจรงกุลถือหุ้นคนละ 1 หุ้น ส่วนบริษัทไพรเวท พร็อพเพอร์ตี้นั้นมีทุนจดทะเบียน 256 ล้านบาท มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้แก่บุญชัย เบญจรงคกุล วิชัย เบญจรงคกุลและวรรณา จิรกิติ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท คือ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบุญชัย เบญจรงคกุล วรรณา จิรกิติและวิชัย เบญจรงคกุลถือหุ้นคนละ 853,332 หุ้น และศุภรัตน์ เบญจรงคกุล วรรณา เบญจรงคกุล ประกอบ จิรกิติและจุฑามาศ เบญจรงคกุลถือหุ้นคนละ 1 หุ้น จากการยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อสินทรัพย์บางส่วนจากยูคอมของ 2 บริษัทที่มีโครงสร้างหลักเป็นคนของตระกูลเบญจรงคกุลทั้งหมดน่าจะบ่งบอกได้ถึงตระกูลเบญจรงคกุลคงไม่หนีไปจากธุรกิจโทรคมนาคมเท่าไรนัก เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้นเอง

No comments: